“ผู้สูงอายุ” คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
“องค์กรของผู้สูงอายุ” คือ องค์กรที่ผู้สูงอายุรวมตัวกันดำเนินการตามวัตถุประสงค์และกิจกรรมเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ
ความเป็นมา
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 13 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” ขึ้นในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ** กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน ผู้สูงอายุ ให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
2. สนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
วิสัยทัศน์
“กองทุนผู้สูงอายุเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
พันธกิจ
1) ส่งเสริม ชมรม องค์กรผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่ายในการพัฒนาความเข้มแข็ง และสนับสนุนให้มี ส่วนร่วมในการผลักดันกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ
2) ส่งเสริมการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี
3) การคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุน และสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน
4) พัฒนาองค์ความรู้และระบบบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
กลุ่มเป้าหมาย
คุณสมบัติผู้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนผู้สูงอายุ
1. ผู้สูงอายุจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
2. องค์กรผู้สูงอายุ/องค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ
2.1 กรณีเป็นหน่วยงานภาครัฐ
– ต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินงานตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 หรือมีหน้าที่ดำเนินการในการคุ้มครองการส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุตามประกาศกระทรวง
2.2 กรณีเป็นองค์กรภาคเอกชนหรือองค์กรของผู้สูงอายุ
– ต้องเป็นองค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือได้รับการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม การจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน
– หากเป็นองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ได้รับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม การจัดสวัสดิการสังคม จะต้องดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรของผู้สูงอายุที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือองค์กรสาธารณประโยชน์รับรองว่าเป็นองค์กรที่มีผลงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน
ผู้สูงอายุ องค์กรของผู้สูงอายุ หรือองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุสามารถติดต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อขอการรับสนับสนุนจากกองทุนผู้สูงอายุหรือประสานงานตามกรณีที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้
ส่วนกลาง
ติดต่อ : กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
ที่ตั้ง : กองทุนผู้สูงอายุ เลขที่ 255 อาคารพิชเยนทรโยธิน ชั้น 1 ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี
ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-354-6100
โทรสาร : 02-354-3107
ส่วนภูมิภาค
ติดต่อ : ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด
**หมายเหตุ “กองทุนผู้สูงอายุ” ปัจจุบันสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปลี่ยนตามการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวง ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558 มาตรา 12
Share: